ความเป็นมา
        Journal Link คือโครงการ ที่ดำเนินตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย โดยประสานเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เข้ากับความร่วมมือของบรรณารักษ์ เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะให้ร่วมกันบริการความรู้ ข้อมูล ข่าวสารแก่สังคม อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในทุกด้าน ทั้งนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้บริการ และความประหยัดของประเทศชาติเป็นสำคัญ
        ภูมิหลัง สืบเนื่องจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ทำให้มีการตัดลดงบประมาณการจัดซื้อวารสาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัยลงอย่างมาก และเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่มีแผนรองรับวิกฤติการณ์นี้มาก่อน การขาดฐานข้อมูลร่วมที่เป็นดรรชนีชี้แหล่งวารสารที่เป็นปัจจุบัน ทำให้แต่ละห้องสมุดขาดทิศทางที่จะรักษารายชื่อวารสารอันเป็นส่วนรวมไว้ได้ ดังนั้นแม้เมื่อแต่ละห้องสมุดได้ตัดรายการวารสารที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ลดลงแล้ว กลับพบว่ารายชื่อวารสารที่คงไว้ในแต่ละห้องสมุดกลับยังมีความซ้ำซ้อนกันอยู่มาก และเลิกรับบางรายการจนกระทั่งไม่มีในห้องสมุดใดในประเทศไทย
        ที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อเมษายน พ.ศ. 2541 จึงได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ประสานงานกับห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา 31 แห่ง และห้องสมุดสังกัดกระทรวงอีก 2 แห่ง แสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาข้างต้นร่วมกัน และแนวทางนั้นได้นำไปสู่โครงการ Journal Link
        องค์ประกอบหนึ่งของ Journal Link คือ ฐานข้อมูลชี้แหล่งวารสารที่มีอยู่ในห้องสมุดต่างๆในประเทศไทย ในเบื้องต้น Journal Link ได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลวารสารจากโครงการ Union List of Serials in Thailand (UNIO) ของคณะทำงานรวบรวมรายชื่อวารสารในประเทศไทย ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักห้องสมุดและบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) ในฐานะศูนย์ประสานงานวารสารสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาห้องสมุดฯ ได้นำข้อมูลวารสารสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจากห้องสมุดสมาชิกของศูนย์ประสานงานฯ ซึ่งปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว เข้าในฐานข้อมูล Journal Link เป็นเบื้องต้น ข้อมูลจากแหล่งทั้งสองนับเป็นข้อมูลแรกเริ่มที่สำคัญอย่างยิ่งใน Journal Link จากนั้นบรรณารักษ์แต่ละห้องสมุดได้สมัครเป็นสมาชิกเข้ามาทาง Internet แล้วเพิ่มเติมปรับปรุงแก้ไขข้อมูลวารสารของห้องสมุดตนเองใน Journal Link โดยผ่านทาง Internet ที่ www. journallink.or. th ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระ
        ปัจจุบันฐานข้อมูลนี้กำลังขยายขนาดขึ้นและจำนวนสมาชิกก็เพิ่มขึ้นด้วยอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตส่วนนี้อาจทำการเชื่อมโยงไปยังหน้าสารบัญวารสารที่สมาชิกจัดทำขึ้นได้อีกด้วย
        ปี พ.ศ.2543 เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญ เมื่อโครงการได้รับความสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภายใต้โครงการวิจัยชื่อ "การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ในการใช้ทรัพยากรสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างห้องสมุดภายในประเทศ" เพื่อทดสอบและประเมินระบบสนับสนุนการบริการระหว่างห้องสมุด รวมทั้งการจัดการด้านบัญชีค่าบริการในระดับการปฏิบัติงานจริง ในระหว่างโครงการวิจัยนี้ Journal Link ได้มีโอกาสร่วมงานกับบรรณารักษ์จาก 35 ห้องสมุด และศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี (ศสท.สวทช.)และด้วยความพยายามของคณะทำงานนี้ จึงทำให้การบริการระหว่างห้องสมุดสมาชิกผ่าน Journal Link ปรากฏเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับของทั้งผู้ให้ และผู้รับบริการ
        ในปีเดียวกัน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการเพื่อผลิต สหบรรณานุกรมวารสารที่มีในห้องสมุดในประเทศไทย ในรูปCD-ROM ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ"ฐานข้อมูลชี้แหล่งวารสารภายในประเทศ: ภาคีความร่วมมือระหว่างห้องสมุดเพื่อบริการสังคม" และได้แจกจ่ายให้แก่ห้องสมุดสมาชิกเพื่อใช้ประโยชน์ในการบริการผู้ใช้
        ระหว่าง กรกฎาคม 2544 - มิถุนายน 2546 Journal Link ได้ดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลชี้แหล่งวารสาร และเป็นศูนย์สนับสนุนการให้บริการอย่างต่อเนื่องด้วยความร่วมมือของห้องสมุดสมาชิก และศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี (ศสท.สวทช.)โดยได้รับความสนับสนุนสถานที่ตั้งสำนักงานกลางจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และงบประมาณวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษา "การพัฒนาองค์กรและการจัดซื้อทรัพยากรในรูปภาคีความร่วมมือ"
        ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 - 2553 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการ Journal Link เป็นงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ สมควรสนับสนุนให้ดำเนินงานต่อไปเพื่อเป็นแหล่งสารสนเทศสำหรับบริการวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยและต่างประเทศ จึงมีความยินดีให้ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยีเป็นผู้ดูแล และให้สถานที่ติดตั้งคอมพิวเตอร์แม่ข่าย และเพื่อให้การดำเนินงาน เป็นไปด้วยดีและบริการได้อย่างต่อเนื่อง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยจึงได้ให้ความอนุเคราะห์ด้านงบประมาณในระยะปรับเปลี่ยนโครงการ Journal Link และ ส่งมอบให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการโครงการ Journal Link ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 เป็นต้นมา
        ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2564 ได้ดำเนินการ Upgrade ฐานข้อมูล Journal Link เป็น Version ใหม่ เพื่อความต่อเนื่องและสะดวกในการใช้งานฐานข้อมูลของสมาชิก ระบบใหม่จึงสามารถเข้าใช้งานได้ด้วยบัญชีใช้งานเดิม ทั้งนี้ ได้ดำเนินการจัดอบรมแนะนำการเข้าใช้ฐานข้อมูลใหม่ให้กับสมาชิก เมื่อวันที่ วันที่ 12 ตุลาคม 2564